Knowledge

ลงรักปิดทอง
งานลงรักปิดทอง ซึ่งนับวันจะเหลือผู้มีฝีมือลดน้อยลงไปและได้รับการถ่ายทอดจากสถาบันการศึกษาสู่เยาวชนรุ่นหลัง ลวดลายไทยสีเหลืองทองอร่ามตัดกับสีดำมันวาว เป็นงานลงรักปิดทองศิลปลายรดน้ำ รังสรรค์ผลงานโดยช่างรัก งานลงรักปิดทองจัดเป็นงานปราณีตศิลปของไทย จัดอยู่ในงานช่างสิบหมู่แขนงช่างรัก มีวิวัฒนาการสืบทอดมาจากครั้งบรรพบุรุษแต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสมัยใด สัญนิฐานว่าพัฒนาจากงานช่างรักเมื่อครั้งสมัยสุโขทัย เป็นราชธานีมีการลงรักปิดทองพระพุทธรูป ต่อมานำมาตกแต่งประดับสิ่งของเครื่องใช้ สำหรับพระมหากษัตริย์ ชนชั้นสูงจนถึงชาวบ้านธรรมดา และเป็นเครื่องใช้ในพระศาสนา แต่ปัจจุบันด้วยจำนวนช่างที่ลดน้อยลงไป มีการแก้ปัญหา สิ่งของมาทดแทนและคุณภาพความคงทนจะลดลง


รัก เป็นยางไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งชนชาติที่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย รู้จักนำมาใช้ในการเคลือบและตกแต่งผิวของวัตถุตั้งแต่สมัยโบราณ โดยใช้ยางรักในการเคลือบสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุประเภทต่างๆ เช่น ไม้ เครื่องจักสาน หนัง ผ้า โลหะ เครื่องปั้นดินเผา หิน เป็นต้น เมื่อยางรักแข็งตัวแล้วจะมีคุณสมบัติป้องกันน้ำซึม และทนต่อสภาพของดินฟ้าอากาศ....คนโบราณและพระเกจิต่าง จึงนำรักมาลงในเชือก ในตะกรุด เพื่อรักษาสภาพของตะกรุดและเชือก...และรักที่ใช้จะต้องผ่านการปลุกเสกมาแล้ว


- ต้นรัก เป็นไม้ยืนต้นอยู่ในวงศ์ไม้มะม่วง (Anacardiaceae) เป็นคนละชนิดกับต้นรัก Calotropis gigantean linn ซึ่งเป็นไม้พุ่มอยู่ในวงศ์ Asclepiadaceae ออกดอกเป็นช่อกลีบดอกสีม่วงหรือขาว ระยางรูปมงกุฎ นำมาใช้ร้อยพวงมาลัย ต้นรักหรือต้นไม้ในวงศ์มะม่วงมีอยู่ ๒ สกุล ที่ใช้เจาะเก็บยางรัก คือ สกุล Rhus และสกุลไม้รักใหญ่ (Melanorrhoea) ต้นรักในสกุลไม้รักใหญ่ มีอยู่ด้วยกัน ๔ ชนิด คือ ต้นรักใหญ่ (Melanorrhoea ustata) รักน้ำเกลี้ยง (Melanorrhoea laccifera) รักเขา (Melanorrhoea pilosa) และรัก (Melanorrhoea glabra)
แต่ต้นรักที่มีความสำคัญและใช้เจาะเก็บยางรัก เพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรมเครื่องรักและเครื่องเขินของไทยและพม่า คือ ต้นรักใหญ่ การนำยางรักจากต้นรักมาใช้ ทำด้วยการกรีดหรือสับด้วยมีดที่ลำต้นรักให้เป็นรอยยาวๆ ยางรักจะไหลออกมาตามรอยที่กรีดและสับนั้น แล้วจึงนำภาชนะเข้ารองรับน้ำยางเป็นคราวๆ และเก็บรวบรวมไว้ใช้งานต่อไป ยางรักนี้บางแห่งเรียกว่า น้ำเกลี้ยง หรือ รักน้ำเกลี้ยง ยางรักแต่ละชนิดที่ช่างรักจะใช้ประกอบในการทำงานเครื่องรักมีอยู่หลายชนิด ดังมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันดังนี้ 
- รักดิบ คือ ยางรักสดที่ได้จากการกรีดหรือสับจากต้นรัก ลักษณะเป็นของเหลวสีขาวเมื่อทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลไหม้ รักดิบนี้จะต้องผ่านการกรองให้ปราศจากสิ่งสกปรกปะปน และจะต้องได้รับการขับน้ำที่เจืออยู่ตามธรรมชาติในยางรักให้ระเหยออกตามสมควรเสียก่อน จึงจะนำไปประกอบงานเครื่องรักได้ 
รักน้ำเกลี้ยง คือ รักดิบที่ผ่านการกรองและได้รับการซับน้ำเรียบร้อยแล้ว เป็นน้ำยางรักบริสุทธิ์ จึงเรียกว่า รักน้ำเกลี้ยง เป็นวัสดุพื้นฐานในการประกอบงานเครื่องรักชนิดต่างๆ เช่น ผสมสมุก ถมพื้น ทาผิว 
รักสมุก คือ รักน้ำเกลี้ยงผสมกับสมุก มีลักษณะเป็นของเหลวค่อนข้างข้น ใช้สำหรับอุดแนวทางลงพื้นและถมพื้น


รักเกลี่ย คือ รักน้ำเกลี้ยงผสมกับสมุกถ่านใบตองแห้งป่น บางทีเรียกว่า สมุกดิบ ใช้เฉพาะงานงานอุดรู ยาร่อง ยาแนวบนพื้นก่อนทารัก สำหรับปิดทองคำเปลว 
รักเช็ด คือ รักน้ำเกลี้ยง นำมาเคี่ยวบนไฟอ่อนๆ เพื่อไล่น้ำให้ระเหยออกมากที่สุด จนได้เนื้อรักข้นและเหนียวจัด สำหรับใช้แตะ ทา หรือเช็ด ลงบนพื้นแต่บางๆ เพื่อปิดทองคำเปลว หรือทำชักเงาผิวหน้างานเครื่องรัก 
รักใส คือ รักน้ำเกลี้ยงที่ผ่านกรรมวิธีสกัดให้สีอ่อนจาง และเนื้อโปร่งใสกว่ารักน้ำเกลี้ยง สำหรับใช้ผสมสีต่างๆ ให้เป็นรักสี 
รักแต่ละชนิดดังที่กล่าวมานี้ ล้วนมีที่มาจาก รักดิบ ทั้งสิ้น รักแต่ละชนิดจะมีคุณภาพมากหรือน้อยก็ดี นำมาประกอบงานเครื่องรักแล้วจะได้งานที่ดี มีความคงทนถาวรเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติพื้นฐานของรักดิบ ที่ช่างรักจะต้องรู้จักเลือกรักดิบที่มีคุณภาพดีมาใช้ 
- การคัดเลือกรักเป็นสิ่งสำคัญต่อการประกอบงาน เพราะรักที่มีขายตามท้องตลาดมิใช่ว่าจะเป็นรักที่บริสุทธิ์ทั้งหมด อาจมีส่วนอื่นผสมเพื่อเพิ่มปริมาณก็ได้ เช่น น้ำมันดิน น้ำมันยาง หรือน้ำเปล่า เวลาซี้อเพื่อที่จะได้รักที่มีคุณภาพที่ดีนั้น อาจจะทดสอบง่ายๆ ได้ดังนี้ 
๑. ใช้นิ้วมือแตะยางรักขยี้และดมกลิ่นของรัก ถ้าบริสุทธิ์จะไม่มีกลิ่นน้ำมันดิน น้ำมันสน หรือน้ำมันยาง 
๒. ใช้ไม้พายจุ่มลงไปในยางรัก แล้วยกขึ้นปล่อยให้ยางรักไหลกลับลงไปจากไม้พาย ถ้าเป็นรักที่บริสุทธิ์จะไหลติดต่อลงเป็นเส้นเสมอกัน ถ้าไม่บริสุทธิ์ยางรักจะไหลขาดลงเป็นตอน 
๓. ใช้นิ้วมือแตะยางรัก แล้วนำไปทาลงบนแผ่นกระจก ยางรักที่มีคุณภาพดีจะทาได้เรียบเสมอกัน ถ้าไม่บริสุทธิ์จะทาลงแผ่นกระจกแล้วไม่ค่อยเรียบ 
๔. ถ้ายางรักแห้งเร็วกว่าปกติ มักจะเป็นยางรักที่ถูกผสมด้วยน้ำมันสนมากเกินความต้องการ และมีคุณสมบัติ (คุณภาพ) เลวด้วย 
๕. ใช้นิ้วมือแตะยางรักแล้วขยี้ดู ถ้ามีคุณภาพดีจะมีความเหนียวกว่ายางรักที่ปนด้วยสิ่งอื่นๆ




วิธีการปิดทองที่นำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน
อุปกรณ์
1.พู่กันทาสีน้ำมันคละเบอร์ ตามเนื้อผิวงาน
2.พู่กันขนกระต่ายให้ในการปัดฝุ่นหรือเก็บฝุ่นทอง
3.สำลี
4.สี น้ำมัน FLEX (สีแดงและสีเหลือง /เป็นสีแห้งช้า(กว่าสีน้ำมันทั่วไป)และมีความมันวาวไม่ต้องผสมอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่อย่าลืมคนสีให้ทั่วให้เนื้อสีกระจายตัวก่อน
5.สีรองพื้นกันสนิม(สีเทา)ในกรณีที่องค์พระหรือพื้นผิวยังไม่ได้ทำอะไรเลย
6.ทองคำเปลวแท้จะมีหลายขนาดและหลายเกรดนะครับ(ระวังทองต่อ หรือทองสองสีนะครับ)
8.ทินเนอร์ ไว้ล้างสีล้างพูกัน/แปรงสีน้ำมัน
9.ทดสอบเวลาที่สี flex แดงและ flex เหลือง แห้งสนิท(สำคัญ)

ขั้นตอน
1.ล้างคราบไขมันต่าง ๆบนองค์พระให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หรืออื่น ๆ ที่ไม่ทำให้ผิวขององค์พระเสียหายแล้วปล่อยให้แห้ง
2.พ่น สีรองพื้นเทากันสนิมให้ทั่ว (เขย่ากระป๋องให้เนื้อสีกระจายตัว อย่าพ่นให้เยิ้มพยายามพ่นสีให้กระจายทั่วได้น้ำหนักเท่า ๆ กันแล้วปล่อยทิ้งให้แห้ง 2-3 วัน)
3.ลงสีรองพื้นก่อนลงสีปิดทอง
3.1.ใช้สี flex แดง(อย่าลืมคนสีให้ทั่วให้เนื้อสีกระจายตัว)
3.2.หา ช้อนหรือวัสดุอื่นที่ตักสีได้ ตักสีแบ่งจากกระป๋องใส่ภาชนะอื่นกะให้ได้ปริมาณที่ทาได้ทั่วอย่าลืมปิด กระป๋องสี flex ให้แน่น (เพราะอากาศจะเข้าทำให้สีแห้งเป็นเม็ดสีได้)
3.3.ใช้ พู/แปรงจุ่มสีพอประมาณ(อย่าให้เยิ้ม)ทาสีให้ทั่วพิ้นผิวที่ต้องการทา เกลี่ยสีให้มีน้ำหนักเท่า ๆ กันบางๆไม่ต้องรีบร้อน โดยสังเกตว่าถ้าทาสีหนาจะทำให้รายละเอียดหายไป เช่น ลวดลายผ้า /พระเนตร/ พระโอษฐ์ เป็นต้น แล้วปล่อยให้สีแห้งทิ้งไว้ไม่ต่ำกว่า 3-4 วัน
4.ลงสี flex เหลืองเพื่อปิดทอง
4.1.ใช้สี flex เหลือง(อย่าลืมคนสีให้ทั่วให้เนื้อสีกระจายตัว)
4.2 .หา ช้อนหรือวัสดุอื่นที่ตักสีได้ ตักสีแบ่งจากกระป๋องใส่ภาชนะอื่นกะให้ได้ปริมาณที่ทาได้ทั่วอย่าลืมปิด กระป๋องสี flex ให้แน่น (เพราะอากาศจะเข้าทำให้สีแห้งเป็นเม็ดสีได้)
4.3.ใช้ พู/แปรงจุ่มสีพอประมาณ(อย่าให้เยิ้ม)ทาสีจากด้านบน(เศียร)ลงมาด้านล่าง(ฐาน ล่าง)เกลี่ยสีให้มีน้ำหนักเท่า ๆ กันบางๆไม่ต้องรีบร้อน เสร็จแล้วทิ้งไว้อย่างต่ำ 4 ชม.
5.ปิดทอง
5.1.ตรวจ สอบพื้นผิวสี -ให้ใช้หลังนิ้วแตะทดสอบ สีจะต้องไม่ติดนิ้ว หรือเหนียวจนรู้สึกได้ว่านิ้วมือติด จนกระทั่งรู้สึกว่าแห้งแต่ยังมีความรู้สึกว่ามีความชื้นเวลาปิดทอง ทองคำเปลวจะไม่จมจะเกิดมีความมันวาวเป็นประกายของเนื้อทองคำ (ห้ามให้สีแห้งผาดจะทำให้แผ่นทองไม่ติด)
5.2.ปิด แผ่นทองคำเปลว ที่ผิวองค์พระโดยเริ่มจากส่วนฐานขึ้นด้านบน ให้แผ่นทองเกยทับกันเล็กน้อย ในส่วนที่เป็นลวดลายให้ปิดทับลงไปอีก 1 แผ่น โดยปิดให้ทั่ว
5.3.ใช่พู่กันไล่ผิวแผ่นทองบางๆจากด้านบนรอบด้านลงมาด้านล่าง (อาจจะเว้นช่วงเม็ดศกไว้ทำทีหลังก้อได้)
5.4.พยายามไล่แผ่นทองที่ปิดพร้อมกับตรวจสอบผิวและปิดทองซ้ำ ณตำแหน่งที่ยังไม่ถูกปิดให้เรียบร้อย
5.5. ส่วน เศษทองคำเปลวที่หล่นยังใช้ปิดได้ โดยใช้ พู่กัน (เบอร์เล็ก) แตะแล้วนำมาปิด ณ ที่ยังไม่ถูกปิดให้เรียบร้อยบริเวณที่ต้องการ หรือผงทองให้กวาดเก็บใส่ในตลับสามารถนำมาถมปิดในจุดตำแหน่งเล็กๆ
5.6.เมื่อปิดทั่วบริเวณที่ต้องการและเก็บงานเรียบร้อยแล้วทิ้งไว้ 1 คืน
5.7 .วันต่อมาต้องกรวดทอง โดยใช้สำลีปั้นเป็นก้อนกลมกดลูบเบาๆให้ทั่วให้เนื้อทองเนียนสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน

ที่มา..คัดลอกบางส่วน: เอกสารประกอบ สาขาช่างรัก ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี

1 ความคิดเห็น: